การพัฒนาฟิล์มเคลือบเชิงประกอบฐานคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส/แคลเซียมคาร์บอเนตเคลือบดัดแปรสำหรับยืดอายุการเก็บรักษาไข่ไก่

  • วิทวัส เปี่ยมพอดี สาขาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นิภารัตน์ ศรีธเรศ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ชิราวุฒิ เพชรเย็น สาขาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Keywords: คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส, กรดปาล์มิติก, กรดสเตียริก, สารเคลือบ, ไข่ไก่

Abstract

งานวิจัยนี้ได้พัฒนาสารเคลือบไข่ไก่คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสผสมแคลเซียมคาร์บอเนตที่ดัดแปรด้วยกรดไขมันปาล์มิติกและกรดสเตียริกความเข้มข้นร้อยละ 1, 3 และ 5 โดยมวล สารเคลือบนี้ใช้เพื่อชะลอการเสื่อมสภาพคุณสมบัติของไข่ไก่สดระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิที่ 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 50 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ คุณภาพและความสดของไข่ไก่วัดด้วยค่าฮอก สัปดาห์ที่ 1 ไข่ไก่ที่ผ่านการเคลือบคงคุณภาพไข่เกรด AA โดยกรดปาล์มิติกมีค่าฮอก 71.38 - 85.90 และกรดสเตียริกมีค่าฮอก 75.91- 85.90 ไข่ไก่ที่ไม่ได้เคลือบลดจากเกรด AA  (ค่าฮอก 77.40) เป็นเกรด B (ค่าฮอก 31.0 – 59.0) สัปดาห์ที่ 2 ไข่ที่ผ่านการเคลือบเป็นเกรด B และไข่ที่ไม่ผ่านการเคลือบเป็นเกรด C (ค่าฮอก < 30) ในทางตรงข้ามไข่ที่เคลือบมีดัชนีไข่ขาวและดัชนีไข่แดงเพิ่มขึ้น ตามเวลาที่เก็บรักษา กรดปาล์มิติกมีดัชนีไข่แดง (35.69-43.38) กรดสเตียริกมีดัชนีไข่แดง (33.30 - 43.98) ซึ่งมีค่าดัชนีสูงกว่าไข่ที่ไม่เคลือบ ณ  วันแรก (ดัชนีไข่แดง 21.23) กรดไขมันทั้งสองจึงไม่มีผลแตกต่างกัน ในขณะที่ไข่ที่ผ่านการเคลือบเป็นด่างสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ( p < 0.05) จาก pH 8.0 - 8.8 เป็น pH 9.0 – 9.4  บนสารเคลือบนี้ปรากฏผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตที่แทรกเข้าสู่รูพรุนของผิวเปลือกไข่และกรดไขมันมีผลให้ผลึกกระจายเคลือบเปลือกไข่ได้ทั่วถึงเป็นแผ่นฟิล์มคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส ดังนั้น สารเคลือบที่พัฒนาขึ้นนี้จึงเป็นสารเคลือบผิวเปลือกไข่ที่สามารถรักษา/ชะลอการลดลงคุณภาพของไข่ไก่สดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส นานถึง 14 วัน

Published
2019-12-26