การพัฒนาธูปจุดกันยุงลายบ้านจาก ขี้เลื่อย ใบและลำต้นข่า

  • เขมนิจจารีย์ สาริพันธ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  • ประนิตดา เพ็งงิ้ว สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  • ปัณณพร หมอบอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  • วันวิสา ลิจ้วน สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธูปจุดกันยุงลายบ้านจากขี้เลื่อย ใบและลำต้นข่า (Alpinia galanga) โดยการศึกษาแบ่งออกเป็น ศึกษาปริมาณสารสกัดหยาบจากใบและลำต้นข่า ศึกษาลักษณะทางกายภาพของธูปจุดกันยุงจากขี้เลื่อย ใบและลำต้นข่า และประสิทธิภาพของธูปจุดกันยุงจากขี้เลื่อย ใบและลำต้นข่าต่อการไล่ยุงลายบ้าน อัตราส่วนของใบและลำต้นข่าต่อขี้เลื่อยที่ทำการศึกษา คืออัตราส่วน 100:0  80:20  60:40  40:60  20:80  และ 0:100 ผลการศึกษาพบว่าปริมาณสารสกัดหยาบที่ได้จากใบและลำต้นข่าเฉลี่ยประมาณ 2.66% ธูปจุดกันยุงจากใบและลำต้นข่าในแต่ละอัตราส่วนสามารถขึ้นรูปเป็นแท่งได้ โดยมีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับ 18 เซนติเมตรและ 0.9 เซนติเมตร ตามลำดับ ธูปจุดกันยุง 1 แท่ง สามารถเผาไหม้ได้นานมากกว่า 50 นาทีโดยมีปริมาณเถ้าต่ำกว่า 5% ปริมาณสารระเหยมากกว่า 95 % และประสิทธิภาพในการไล่ยุงอยู่ในช่วง 44-64% อัตราส่วนที่เหมาะสมของใบและลำต้นข่าต่อขี้เลื่อยในการผลิตธูปจุดกันยุง คือ 20:80 โดยที่อัตราส่วนนี้ธูปจุดกันยุงจะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้ 64%และมีคุณสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ ความชื้น ระยะเวลาในการเผาไหม้  อัตราการเผาไหม้ ปริมาณเถ้า และปริมาณสารระเหย เท่ากับ 4.94% 87 นาที  0.05 กรัม/นาที  2.08% และ 98.42% ตามลำดับ

Published
2018-12-27