การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินนโยบาย ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน (5R+E) ในระดับอุตสาหกรรม
Abstract
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจํากัดลดน้อยลงและเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกลไกหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศและความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกได้ ดังนั้น ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมจึงพยายามนําหลักการ แนวคิด นโยบายตลอดจนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเข้ามาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากผลของกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนที่สําคัญที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างดุลยภาพในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงพยายามศึกษาปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลในแง่มุมต่างๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินนโยบายในภาคอุตสาหกรรมให้ประสบผลสําเร็จ วัตถุประสงค์การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยนําตัวแปรประชากรศาสตร์ (เพศ) และความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยในการศึกษาความสัมพันธ์ในการดําเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (5R) และการดําเนินนโยบายด้านพลังงาน (E) จากการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวมรวมข้อมูล และใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน(ANOVA) และการถดถอยเชิงเส้น ณ ระดับนัยสําคัญทางสถิติ 0.05 ผลจากการวิจัยตามวัตถุประสงค์ พบว่า (1) ปัจจัยทางประชากรศาสตร์ (เพศ) ที่แตกต่างกันส่งผลให้การมีส่วนร่วมของพนักงานในการดําเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (5R) ในหมวดของการลดการใช้/การเกิดของเสีย/กระบวนการที่ก่อให้เกิดของเสีย (Reduce) และการซ่อมหรือแก้ไข (Repair) แตกต่างกัน (2) ความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสําคัญในทิศทางบวกต่อการสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Sig.=0.000 R2=0.403) (3) ความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสําคัญในทิศทางบวกต่อการสร้างความเข้มแข็งในการดําเนินนโยบายด้านพลังงานจากการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Sig.= 0 R2= 0.335)ทรัพยากรมนุษย์นอกจากเป็นกุญแจสําคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ยังต้องดําเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ดุลยภาพทางสังคมและความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต