การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับอากาศด้วยการเพิ่มการถ่ายเทความร้อนให้กับคอนเดนเซอร์โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากอิวาพอเรเตอร์
Abstract
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับอากาศด้วยการเพิ่มการถ่ายเทความร้อนให้กับคอนเดนเซอร์โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากอิวาพอเรเตอร์ ชุดทดลองประกอบด้วย ระบบทำความเย็นแบบอัดไอขนาด 3.52 กิโลวัตต์ (12,000 บีทียูต่อชั่วโมง) คอนเดนเซอร์แบบระบายความร้อนด้วยอากาศ โดยใช้สารทำความเย็น R-22 เป็นสารทำงาน ในการศึกษาครั้งนี้ได้แบ่งการทดลองระบบปรับอากาศออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน และระบบที่ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน จากการทดลองพบว่าระบบที่ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน สารทำความเย็นที่ออกจากอิวาพอเรเตอร์มีอุณหภูมิเฉลี่ย 13.05 องศาเซลเซียส ในขณะเดียวกันอุณหภูมิของอากาศสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเข้าถ่ายเทความร้อนให้กับคอนเดนเซอร์มีอุณหภูมิเฉลี่ย 33.57 องศาเซลเซียส เมื่ออากาศไหลผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน อุณหภูมิของอากาศจะลดลงเฉลี่ย 2.46 องศาเซลเซียส ในส่วนอุณหภูมิของสารทำความเย็นที่ออกจากอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนก่อนเข้าสู่คอมเพรสเซอร์จะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.28 องศาเซลเซียส อีกทั้งระบบปรับอากาศที่ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนสามารถถ่ายเทความร้อนได้เพิ่มขึ้น 11.76 เปอร์เซ็นต์ มีค่าสัมประสิทธิ์ของสมรรถนะระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้น 13.78 เปอร์เซ็นต์ และใช้กำลังไฟฟ้าลดลง 2.95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับระบบที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน